พิกัดน้ำหนัก
เวลเตอร์เวต: มากกว่า 170 ปอนด์ และไม่เกิน 185 ปอนด์
ไลต์เวต: มากกว่า 155 ปอนด์ และไม่เกิน 170 ปอนด์
เฟเธอร์เวต: มากกว่า 145 ปอนด์ และไม่เกิน 155 ปอนด์
แบนตัมเวต: มากกว่า 135 ปอนด์ และไม่เกิน 145 ปอนด์
ฟลายเวต: มากกว่า 125 ปอนด์ และไม่เกิน 135 ปอนด์
สตรอว์เวต: มากกว่า 115 ปอนด์ และไม่เกิน 125 ปอนด์
อะตอมเวต: มากกว่า 105 ปอนด์ และไม่เกิน 115 ปอนด์
พิกัดน้ำหนักของ ONE จะแตกต่างจากองค์กรจัดการแข่งขันการต่อสู้อื่น โดย ONE เป็นผู้นำในวงการการต่อสู้ที่ไม่อนุญาตให้นักกีฬาลดน้ำหนักด้วยวิธีการตัดน้ำออกจากร่างกาย แต่เลือกใช้วิธีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ เพื่อให้นักกีฬาไม่ขาดน้ำ มีความสมบูรณ์แข็งแรง และมีสุขภาพที่ดีตลอดการแข่งขัน
วิธีการใหม่ซึ่งนำมาใช้ในการแข่งขันเป็นที่แรก เน้นให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักกีฬา ด้วยการใช้ระบบ “น้ำหนักปกติ (walking-weight)” เป็นเกณฑ์ โดยจะมีการชั่งน้ำหนัก และทดสอบระดับน้ำในร่างกายทั้งก่อนและระหว่างสัปดาห์แข่งขัน
ระบบการชั่งน้ำหนักที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นี้ ถูกกำหนดขึ้นหลังจากการหารือและให้คำแนะนำโดยทีมแพทย์และทีมจัดการแข่งขันของ ONE ประกอบด้วย “ดร.วอร์เรน วอง” รองประธานฝ่ายบริการการแพทย์, “ดร.เจมส์ โอกาโมโตะ” หัวหน้าที่ปรึกษาทางการแพทย์, “แมตต์ ฮูม” รองประธานอาวุโสฝ่ายการแข่งขัน และ “ริช แฟรงคลิน” รองประธาน
ระบบการชั่งน้ำหนัก และวัดระดับน้ำในร่างกายของ ONE ทำงานอย่างไร?
- น้ำหนักของนักกีฬาในช่วงที่มีการซ้อมประจำวัน จะเรียกว่า “น้ำหนักปกติ” (walking-weight) โดย ONE จะกำหนดรุ่นน้ำหนักของนักกีฬา และเสนอให้แข่งขันโดยพิจารณาให้สอดคล้องกับ “น้ำหนักปกติ” อย่างเคร่งครัด และจะต้องเห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่าย
- เมื่อนักกีฬามาถึงที่พักในช่วงสัปดาห์แข่งขัน นักกีฬาจะต้องชั่งน้ำหนัก โดยมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักของรุ่นที่ตกลงแข่งขัน
- ช่วงสัปดาห์แข่งขัน จะมีการชั่งน้ำหนักและวัดระดับน้ำในร่างกายของนักกีฬาทุกคน โดยระดับน้ำในร่างกายจะตรวจสอบจากความเข้มข้นของปัสสาวะ ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญงานแพทย์ หากค่าความเข้มข้นของปัสสาวะที่วัดได้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1.0250 ถือว่านักกีฬาผ่านการวัดระดับน้ำในร่างกาย จึงทำการชั่งน้ำหนักตัวได้ โดยน้ำหนักตัวของนักกีฬาจะต้องอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักในรุ่นที่ตกลงแข่งขัน
- นักกีฬาที่ไม่ผ่านการวัดระดับน้ำในร่างกาย และชั่งน้ำหนักตัวในสองครั้งแรก จะต้องทดสอบใหม่ในวันแข่งขัน ซึ่งหากนักกีฬาไม่ผ่านการวัดระดับน้ำในร่างกาย และชั่งน้ำหนักตัวในวันแข่งขัน (ทั้งสองรายการ) จะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงแข่งขัน
- นักกีฬาที่ไม่ผ่านการวัดระดับน้ำในร่างกาย จะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงแข่งขัน แต่หากนักกีฬาวัดระดับน้ำในร่างกายผ่าน แต่มีน้ำหนักตัวเกินกว่ารุ่นที่ชก ฝ่ายตรงข้ามจะได้รับข้อเสนอให้ชกในพิกัดเฉพาะ (แคตช์เวต) โดยนักกีฬาจะต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 105% ของน้ำหนักคู่แข่งขัน และจะต้องได้รับความยินยอมของคู่แข่งขันด้วย นอกจากนี้ยังจะต้องมีการเจรจาเรื่อง “การชดเชยค่าน้ำหนัก” (ซึ่งหักจากค่าตัวที่ได้รับ) ตามแต่ตกลงกันทั้งสองฝ่าย
- หลังการแข่งขันจะมีการชั่งน้ำหนักตัวนักกีฬา โดยน้ำหนักจะต้องไม่เกิน 105% ของพิกัดที่ตกลง หากนักกีฬาไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษคือ
6.1 ฝ่าฝืนครั้งแรก – ได้รับการตักเตือนอย่างเป็นทางการ
6.2 ฝ่าฝืนครั้งที่ 2 – ปรับ 25% จากรายได้รวมไฟต์นั้น
6.3 ฝ่าฝืนครั้งที่ 3 – ปรับ 50% จากรายได้รวมไฟต์นั้น และถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันในรุ่นน้ำหนักนี้อย่างถาวร และต้องเลื่อนขึ้นไปแข่งขันในรุ่นที่สูงกว่า
กฎกติกาการแข่งขัน
กฎกติกาการแข่งขันการต่อสู้แบบผสมผสาน
ONE Championship™ ใช้กฎกติกาการแข่งขันศิลปะการต่อสู้สากลในการแข่งขัน ซึ่งผสมผสานแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากทั้งในเอเชียและทั่วโลกเข้าด้วยกัน โดยนักกีฬาทุกคนจะต้องสวมนวม MMA ขนาด 4 ออนซ์ในการแข่งขัน
ระยะเวลาแข่งขัน
การแข่งขันแต่ละคู่มีกำหนด 3 ยกๆ ละ 5 นาที และมีการพัก 1 นาทีระหว่างยก
การแข่งขันชิงแชมป์โลกมีกำหนด 5 ยกๆ ละ 5 นาที และมีการพัก 1 นาทีระหว่างยก
วิธีได้รับชัยชนะ
ชัยชนะสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้:
- การชนะน็อก
- การชนะทีเคโอ โดยกรรมการ แพทย์สนาม หรือพี่เลี้ยงสั่งยุติการแข่งขัน
- การซับมิชชัน (Submission)
- การซับมิชชันทีเคโอ โดยกรรมการ แพทย์สนาม หรือพี่เลี้ยงสั่งยุติการแข่งขัน
- การตัดสินของกรรมการ
- การตัดสินทางเทคนิค
- ผู้แข่งขันขอยอมแพ้ด้วยวาจา
- การตัดสิทธิ์
การชนะโดยการตัดสิน
เมื่อการแข่งขันดำเนินไปจนครบทุกยก จะเข้าสู่ขั้นตอนการตัดสินของกรรมการ โดยกรรมการทั้ง 3 คนจะตัดสินจากภาพรวมของการแข่งขันทั้งหมด ไม่ใช่ยกต่อยก โดยนำเกณฑ์การตัดสินของ ONE มาจัดลำดับเพื่อชี้ขาดผู้ชนะจากการแข่งขันครั้งนั้น
เกณฑ์การพิจารณาของ ONE
- การทำให้คู่ต่อสู้อยู่ในสภาพใกล้เคียงกับการถูกน็อกเอาต์ หรือซับมิชชัน
- ความเสียหายจากการต่อสู้ (ภายใน, สะสม, บาดแผลที่เห็นได้ชัด)
- ความต่อเนื่องในการโจมตี และยุทธวิธีบนสังเวียน (การคุมเกมภาคพื้น, ตำแหน่งที่ได้เปรียบกว่า)
- การทำให้คู่ต่อสู้ลงพื้น (Takedown) และการป้องกันตัวเองจากการเทกดาวน์
- ความดุดันในการต่อสู้